วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ลักษณะการละเล่นพื้นเมืองของแต่ละภาค

ภาคกลาง

การละเล่นพื้นเมืองส่วนมากจะออกมาในรูปแบบของเพลงพื้นเมือง ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
เพลงที่นิยมเล่นในน้ำ ได้แก่ เพลงเรือ เพลงหน้าใย เพลงครึ่งท่อน และเพลงร่อยพรรษา ฯลฯ

เพลงที่นิยมเล่นในหน้าเกี่ยวข้าว นวดข้าว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงโอก เพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดาน ฯลฯ

เพลงที่นิยมเล่นในหน้าสงกรานต์ และใกล้เคียง ได้แก่ เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงสงกรานต์ (ตั้งขึ้นพิเศษ) เพลงยั่ว เพลงระบำบ้านไร่ เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงเหย่ย เพลงคล้องช้าง เพลงช้าเจ้าโลม เพลงฮินเลเล เพลงกรุ่น เพลงชักเย่อ เพลงเข้าผี เพลงแห่นางแมว เพลงใจหวัง และเพลงบวชนาค ฯลฯ

เพลงที่นิยมร้องทั่วไปไม่จำกัดเทศกาล ได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เพลงไก่ป่า เพลงพาดควาย เพลงขอทาน เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง ลำตัด เพลงระบำบ้านนา เพลงแอ่วเคล้วซอ และเพลงอีแซว ฯลฯ ส่วนการละเล่นพื้นเมืองในรูปแบบของการแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง ได้แก่ รำโทน รำเถิดเทิง รำวง และระบำต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในแต่ละสถานที่

ภาคเหนือ

การละเล่นพื้นเมืองของภาคเหนือในรูปแบบของเพลงพื้นเมืองนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

บทขับขานของพระภิกษุในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา (ซึ่งผสมผสานกับพราหมณ์ และผี) เช่น เทศน์ อื่อลำนำ ใส่กาพย์ สวด ทั้ง 4 อย่างนี้ถือเป็นบทเพลงที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพิธีกรรมโดยตรง มิได้นำมาขับร้องกันเล่นๆ

บทขับร้องของประชาชนชาวบ้านทั่วไป เช่น ค่ำ (ช่ำ) จ๊อย (ช้อย)

การละเล่นพื้นเมืองของภาคเหนือในรูปแบบของการแสดงพื้นเมือง ซึ่งมักเกี่ยวกับการฟ้อนหรือการร่ายรำนั้น แบ่ง 5 ประเภทคือ



ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจาการนับถือผี เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวกับความเชื่อ และพิธีกรรม นับเป็นการฟ้อนที่เก่าแก่มาช้านาน ได้แก่ ฟ้อนผีมดผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง ฯลฯ

ฟ้อนแบบเมือง เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของคนเมืองหรือ "ชาวไทยยวน" (ซึ่งเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นปึกแผ่นในแว่นแคว้นที่เรียกว่า "ลานนา") ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย และฟ้อนสาวไหม ฯลฯ

ฟ้อนแบบม่าน คำว่า "ม่าน" ในภาษาลานนาหมายถึง "พม่า" การฟ้อนประเภทนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่ากับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฯลฯ

ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือแบบไทยใหย่ เป็นการฟ้อนตลอดจนการแสดงที่ได้รับอิทธิพลหรือต้นเค้ามาจากศิลปการแสดงของชาวไทยใหญ่ ได้แก่ เล่นโต กิ่งกะหร่า (กินนรา) หรือฟ้อนนางนำ กำเบ้อคง มองเซิง ฟ้อนไต (ไทยใหญ่) และฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ

ฟ้อนที่ปรากฎในบทละคร การฟ้อนประเภทนี้เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดงละครพันทาง ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนรั และฟ้อนลาวดวงเดือน ฯลฯ

ภาคใต้

การละเล่นพื้นเมือง ของภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ



แบ่งตามรูปแบบการเล่น แยกออกเป็น 3 ลักษณะคือ

เพลงพื้นเมือง แบ่งตามโอกาสที่เล่นได้เป็น2 ชนิด คือ เพลงที่ใช้เล่นตามฤดูกาลหรือเทศกาล ได้แก่ เพลงเรือ เพลงลา เพลงบอก สวดมาลัย เพลงกล่อมนาค และคำตัก ฯลฯ และเพลงที่ใช้เล่นได้ทุกโอกาส ได้แก่ เพลงตันหยงหรือหล้อแหง็ง และลิเกฮูลู ฯลฯ

ระบำพื้นเมืองที่ไม่สามารถแยกประเภทได้มีหลายชนิด แต่ที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ รองเง็ง ซัมเปง ดาระ และสิละ (หรือซีละ) ฯลฯ

ละครชาวบ้านที่ไม่สามารถจำแนกออกได้ ที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ หนังตะลุง วายังเซียม มโนห์รา มะโย่ง และลิเกป่า ฯลฯ

แบ่งตามกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม แยกเป็น 3 ลักษณะ คือ

การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ ได้แก่ กาหลอ คำตัก เพลงกล่อมนาค เพลงเรือ เพลงนา สวดมาลัย โต๊ะครึม หนังตะลุง และมโนห์รา ฯลฯ

การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยมุสลิม ได้แก่ ลิเกฮูลู เพลงตันหยง รองเง็ง ซัมเปง ดาระ และวายังเซียม ฯลฯ

การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ และไทยมุสลิม ได้แก่ ลิเกป่า

ภาคอีสาน

ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถแบ่งเรื่องการละเล่นพื้นเมืองได้ เป็น 2กลุ่ม คือ



กลุ่มอีสานเหนือ ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า กลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำ หมอแคน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีมากที่สุดในภาคอีสาน

กลุ่มอีสานใต้ แบ่งออกได้อีก 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมร - ส่วย หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเจรียง - กันตรึม"

กลุ่มวัฒนธรรมโคราช หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเพลงโคราช"

ถ้าพิจารณาถึงประเภทของเพลงพื้นเมืองอีสาน โดยยึดหลักเวลา และโอกาสในการขับร้องเป็นหลัก สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ



เพลงพิธีกรรม

กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวสหรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่างๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการสู่ขวัญในโอกาสต่างๆ ฯลฯ

กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่างๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง

เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน

กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า

กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช

ปัจจุบันมีการแสดงชุดใหม่ที่สถาบันต่างๆของภาคอีสานแต่ละกลุ่มได้ประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฎอยู่ของภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่



การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงต๊อง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ

การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี

การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย

การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าต่างๆภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน รวมเผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช

การฟ้อนเนื่องมาจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ

การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม๊วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเซียงข้อง ฯลฯ

การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ

การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น